พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์
พระนามว่า “ พิมพ์ปรกโพธิ์ ” มาจากพระพุทธศิลป์เป็นองค์พระปางสมาธิใต้ร่มโพธิ์บัลลังก์ โดยประดิษฐานในซุ้มครอบแก้วอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธองค์
ศิลปะพระพุทธรูปใต้ร่มโพธิ์นี้ได้รับความนิยมในการจำลองการพิมพ์ พระเครื่อง เรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะเป็นที่นิยมกันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นพระสมเด็จที่สร้างจากวัดระฆัง แล้วนำมาบรรจุอยู่ในกรุพระเจดีย์ของวัดใหม่อมตรส สภาพขององค์พระสมเด็จจึงมีขี้กรุที่มีเอกลักษณ์ของกรุวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) โดยเฉพาะ และมีข้อน่าสังเกต เช่น
ตำหนิศิลปะแม่พิมพ์ของโพธิ์จะปรากฏช่อโพธิ์อยู่ประมาณ ๑๐ – ๒๕ ช่อ ครอบคลุมอยู่ด้านบนและด้านข้างของพระเศียรพระประธาน
สำหรับการพิมพ์ด้านหลังขององค์พระมีเพียงพิมพ์เดียวเท่านั้นคือ “พิมพ์หลังเรียบ”
พุทธศิลปะขององค์พระประธานและฐานทั้ง ๓ ชั้น จะหนาใหญ่ สง่างาม คล้ายพิมพ์เกศบัวตูม สังเกตได้จากลำพระกรจะอวบอ้วน พระเพลา (หน้าตัก) จะหนาใหญ่ ฐานทั้ง ๓ ชั้น จะหนาและใหญ่กว่าพระสมเด็จพิมพ์อื่นๆ